Thursday, December 18, 2008

THAIRATH 20 Nov 2008 :

ไทยพุทธในมาเลย์ แตกต่างไม่แตกแยก [20 พ.ย. 51 - 19:25]

“เรา อยู่กันอย่างสบาย เขาปล่อยให้ ทำบุญ และพิธีทางศาสนาทุกอย่าง” เสียงเล่าด้วยภาษาไทยฉะฉานของป้าจอย จันทรศิริ อายุ 52 ปี ชาว อำเภอตุมปัส รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

เสียงป้าดังแข่งกับเสียงเพลงสุรพล สมบัติเจริญ บางท่อนแว่วมาว่า “เกิดมาเป็นคนไทย น้องเอ๋ยจำไว้ หมั่นทำบุญใส่บาตร วันโกนวันพระอย่าให้ขาด ทำบุญใส่บาตรให้ทุกๆวัน...” แล้วตามด้วยเพลงอื่นๆ ทั้งที่เป็น เพลงร่วมสมัยใกล้เคียงกับสุรพล เรื่อยมาจนถึงเพลงแอ๊ด คาราบาว และลูกทุ่งยุคใหม่ของไทย

เสียงเพลงลูกทุ่ง และเสียงผู้คนในวัดพิกุลทองวราราม บ้านบ่อเสม็ด ตำบลเตอรือเบาะ อำเภอตุมปัส ทำให้บรรยากาศเหมือน วัดในประเทศไทย มากกว่าจะคิดไปอย่างอื่น

และเพลงเหล่านี้ สื่อให้เห็นว่า คน มาเลย์เชื้อสายไทยมีการติดต่อไปมาหาสู่กับคนไทยในแผ่นดินไทยได้เป็นอย่างดี

ป้าจอยบอกว่า อยู่ในรัฐกลันตันมา ตั้งแต่เกิด และเมื่อถามย้อนไปถึงบรรพบุรุษ ยายก็บอกไม่ได้ว่า บรรพบุรุษของป้าอยู่บนผืนแผ่นดินนี้มาตั้งแต่เมื่อใด

เรื่องนี้ บางบรรทัดประวัติศาสตร์ บอกว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2451 กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีต่างประเทศของไทย และนายราฟ แพชยิต ราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับ หนึ่ง

ใจ ความสำคัญ ตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลไทย ยอมยกสิทธิทางการปกครอง และการบังคับบัญชาเหนือดินแดนรัฐมลายู คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ”

สาเหตุที่ต้องทำอย่างนั้น เพราะ อังกฤษเจ้าอาณานิคมของมลายูบีบไทยด้วยวิธีการต่างๆ เพราะสนธิสัญญาฉบับ พ.ศ.2451 นี้เอง ทำให้คนไทยทั้ง 4 รัฐกลายเป็น “คนไทยติดแผ่นดิน” อย่างไม่อาจ หลีกเลี่ยงได้

รัฐที่คนไทยอยู่อาศัยหนาแน่นที่สุดคือ เคดะห์ รองลงมาคือกลันตัน อีกสองรัฐมีไม่มากนัก จำนวนชาวมาเลย์เชื้อสายไทยอย่างเป็นทางการ รวมทั้ง 4 รัฐ ไม่ต่ำกว่า 60,000 คน

แม้เสียงพูดจา วัฒนธรรม ประเพณี จะต่างจากชาวมาเลย์เชื้อสายมลายู แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้สร้างปัญหาในการอยู่ร่วมกัน

“เราอยู่ของเรา เฉยๆ เขาก็ไม่มายุ่งกับเรา เราก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเขา เมื่อมีเทศกาล เขาก็มาเที่ยวงาน เราเองก็ไปเที่ยวงานของเขาได้ เหมือนกัน”

นางประนอม แสง จันทร์ อายุ 40 ปี ชาวอำเภอตุมปัส รัฐกลันตันบอกด้วยภาษา ไทย

วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ คนไทย ในมาเลย์มีเหมือนชาวไทยในประเทศไทยทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลงานบุญเข้าพรรษา ออกพรรษา สงกรานต์ และ ประเพณีลอยกระทง

อาจมีแตกต่างกันบ้าง ก็เพียงราย ละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น “สำเนียงพูดของเราแปลกกว่าคนใต้ และคนกรุงเทพฯ เพราะวัฒนธรรม ประเพณีของเราได้รับอิทธิพลจากมาเลย์เข้ามาแทรกบ้าง”

นายสาย รัตนพงษ์ ที่ปรึกษาสมาคม ไทยกลันตันบอก

พลางยกตัวอย่างว่า “สมัยก่อนคน ไทยกรุงเทพฯ สงขลา นุ่งผ้าโจงกระเบน แต่เรานุ่งโสร่ง พวกเขาฟันดาบ เราฟันปัญจสีลัต และเราก็มีกริช”

เรื่องการทำมาหากิน แต่เดิมทำนาต่อมาปลูกยาสูบ เมื่อทางการมาเลย์ขอร้องให้เลิกปลูก และสนับสนุนให้ปลูกผักแทน คนไทยในมาเลย์ ก็พร้อมใจกันหันมา ปลูกผักกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

เหลือจากกินในครัวเรือน และซื้อ ขายแลกเปลี่ยนในหมู่คนไทยด้วยกันเองแล้ว ยังส่งไปขายที่เมืองโกตาบารูอีกด้วย

อาชีพนอกเหนือจากเกษตรกรรม เพราะคนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาดีขึ้น ประกอบกับนโยบายของพรรคการเมืองในมาเลเซียเปิดกว้างให้กับคน กลุ่มน้อย ทำให้มีคนเชื้อสายไทยเข้ารับราชการครู ตำรวจ นายอำเภอ และเป็น ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด

หนุ่มสาวที่ไม่ได้เรียนหนังสือสูง ไม่ได้ รับราชการ ก็เข้าทำงานบริษัทต่างๆ และในโรงงาน

“เมื่อก่อนคน ไทยมีโอกาสน้อย ไม่เหมือนคนมลายูที่ได้สิทธิเต็ม แต่ตอนนี้อะไรก็ง่ายขึ้น เพราะได้สิทธิเหมือนกัน เราได้เรียนจบกันสูงๆ ได้ทำงานดีๆ กันมาก”

นายวรรณ อายุ 35 ปี บอก

และแถมว่า นามสกุลคนมาเลย์เชื้อ สายไทย บางคนมี บางคนก็ไม่มี เพราะแต่เดิมมาไม่ได้ใช้นามสกุล

การสืบสานวัฒนธรรมไทย ภาษาไทย ของคนเชื้อสายไทยมีศูนย์รวมอยู่ที่วัด พระวิจารณ์วุฒิคุณ เจ้าอาวาสวัดพิกุลทองวราราม บอกว่า สัญลักษณ์ให้ดู ที่วัด คนเชื้อสายไทยจะอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านจะมีวัด

เฉพาะในอำเภอตุมปัสมีวัดไทยกว่า 10 วัด แต่ละวัดอายุหลายร้อยปี

อย่าง วัดพิกุลทองวราราม อายุกว่า 400 ปี ตั้งมาแต่สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ประเพณี วัฒนธรรม ไทยมาอย่างต่อเนื่อง

วัดพิกุลทองฯมีโรงเรียนสอนภาษา ไทย ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 4

พระวิจารณ์วุฒิคุณ เจ้าอาวาสบอกถึง การสอนอ่านและเขียนภาษาไทยว่า เมื่อก่อนสอนเฉพาะลูกศิษย์พระอย่างเดียว ต่อมามีคนสนใจเรียนกัน มาก จึงเปิดสอนเด็กๆทั่วไป ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 100 คน บางคนอยู่ ไกลถึง 10 กม.ก็ยังอุตส่าห์มาเรียน

เวลาเรียนนั้น เปิดในวันเสาร์ อาทิตย์ และปิดเทอม เพราะเด็กๆ ต้องไปเรียนในโรงเรียนของรัฐบาล ต้องเรียนภาษามลายู ตามกฎหมาย เมื่อว่างก็เข้ามาเรียนภาษาไทยกับพระ และปัจจุบันมีรุ่นพี่ๆช่วย สอน

คนเชื้อสายไทยในมาเลย์ แม้จะพูด ภาษาไทยปร๋อ แต่ส่วนใหญ่อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ วัดไทยในรัฐต่างๆ จึงเปิดสอนให้ ส่วนวัดพิกุลทองฯนี้ เป็นศูนย์เรียนรู้ ภาษาไทยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง

วัดพิกุลทองวราราม เคยเป็นที่พักของ ทหารไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พระวิจารณ์วุฒิคุณ เจ้าอาวาสวัด พิกุลทองฯ เล่าว่า ประมาณปี พ.ศ.2486 ทหารไทยเคยเข้ามาประจำการที่วัด โดยกองกำลัง ชุดใหญ่อยู่ที่อำเภอตุมปัส ในวัดเป็นเพียงกองกำลังเล็กๆเท่านั้น

สมัยนั้น “อาตมาอายุแค่ 11-12 ขวบเอง ได้มากินอยู่หลับนอนกับทหาร จำได้ ว่า คนที่มาเป็นผู้บังคับบัญชาชื่อว่าหมวดทองใบ” พระอาจารย์ กล่าวติดตลกอีกว่า

“ทหารไม่ได้มารบกวนเราหรอก แต่ชาวบ้านบอกกันว่า ให้ระวังลูกสาวอย่างเดียว” เอ่ยพลางยิ้มอย่างอารมณ์ดี

เมื่อ สิ้นสงคราม และไทยสิ้นสิทธิใน 4 รัฐอย่างสมบูรณ์ คนเชื้อสายไทยที่ติดอยู่กับแผ่นดินบรรพบุรุษต้องอยู่กับผู้ ปกครองใหม่และอยู่อย่างปกติสุข

ความอยู่เย็นเป็น สุขนี้ นายปิยะวัฒน์ นิยมฤกษ์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สรุปภาพสั้นๆว่า “เพราะต่างเคารพความ แตกต่างซึ่งกันและกัน”

ส่วนนายเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้สัมผัสและสนใจคนเชื้อสายไทยมาก่อน อธิบายว่า เพราะรัฐบาลมาเลย์ ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ถือว่าคนไทยเป็นภูมิบุตร จึงได้รับ เอกสิทธิ์ต่างๆเท่ากันกับคนเชื้อสายมลายู เพราะฉะนั้น คนมาเลย์เชื้อสายไทยจึงอยู่อย่างมีความสุข

และที่สำคัญ ท่านสุลต่านและพระชายา รัฐกลันตัน ให้การอุปถัมภ์คนไทย

มาตั้งแต่สมัยรัฐกาลที่ 5 แล้ว ทำ ให้คนไทยที่กลันตันอยู่อย่างมีความสุขตลอดมา

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ต่างฝ่ายต่างเป็นศาสนิกชนที่ดี คนมลายูก็เป็นมุสลิมที่ดี คนไทยก็เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ต่างชอบพอซึ่งกัน และกัน มีงานอะไร ก็ช่วยกัน

ดังนี้แล้ว “อยากให้คนในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ มีความเป็นอยู่เหมือนที่อำเภอตุมปัส รัฐกลันตัน ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ ปัญหาต่างๆก็จะหมดไป”

แม่น้ำตากใบยังไหล เอื่อย เราสมมติให้เป็นเส้นแบ่งระหว่างนราธิวาสกับรัฐกลันตัน ขณะที่ฝั่งหนึ่งร้อนระอุ ทำไมอีกฟากฝั่งจึงสงบ เย็น.

No comments:

Post a Comment